วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เทอร์โมมิเตอร์หรือที่เรามักเรียกกันว่าปรอทวัดไข้และปรอทวัดอุณหภูมิห้อง (ชนิดสีเทา) ที่ใช้กันมาอย่างแพร่หลายเป็นเวลานาน ทำมาจากหลอดแก้วบรรจุสารปรอทอยู่ภายใน สารปรอท (mercury) เป็นสารที่มีพิษมากชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นโลหะ มันวาว ไหลได้เหมือนของเหลว ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในเรื่องการใช้ การเก็บรักษา รวมถึงการกำจัดสารปรอทหากเกิดอุบัติเหตุปรอทแตกขึ้น
ปรอทให้ไอระเหยเข้าสู่บรรยากาศได้ จึงเป็นอันตรายเมื่อสูดดม และเมื่อมีการสะสมการสะสมเป็นระยะเวลานานในร่างกาย เป็นพิษอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ อาจก่อให้เกิดผลเสียระยะยาวต่อสภาวะแวดล้อมในน้ำ สารปรอทไม่ลุกไหม้แต่จะปล่อยไอพิษออกมาเมื่อได้รับความร้อน หากเกิดอุบัติเหตุทำให้ปรอทรั่วไหลออกมาไม่มาก ให้ใช้ผลกำมะถันโรยลงไปแล้วเก็บกวาด ผงกำมะถันจะคลุมผิวปรอทและบางส่วนกลายเป็นสารประกอบซัลไฟด์ ถ้าจะป้องกันไม่ให้ปรอทให้ไอระเหยออกมา ถ้าปรอทที่หกมีปริมาณมากอาจใช้คลุมด้วยปูนขาวแห้ง ทราย ผงกำมะถันหรือโซดาแอซ แล้วกวาดเก็บในภาชนะที่ปิดโดยใช้เครื่องมือที่ไม่ก่อให้เกิดประกายไฟ เคลื่อนย้ายออกสู่ที่โล่งระบายอากาศในบริเวณนั้น และทำความสะอาดตำแหน่งที่สารหกหลังจากที่เก็บสารออกหมดแล้ว ปกติเวลาเก็บปรอทไว้ใช้ในห้องปฏิบัติการ เขาจะใส่ในขวดแก้วแล้วปกคลุมด้วยน้ำ เพื่อกันการระเหยของไอต้องดูแลไม่ให้น้ำแห้ง
ปัจจุบันมีวิธีวัดไข้อื่นอีกหลายวิธี เช่นใช้เครื่องวัดแบบไฟฟ้าที่วัดไข้ได้ทางหู หรือทางใต้รักแร้ ซึ่งเหมาะกับการใช้กับเด็ก เพราะให้ผลที่แม่นยำและรวดเร็ว ไม่ทำให้เกิดความรำคาญกับเด็กมากนัก แต่อุปกรณ์ชนิดนี้มีราคาแพงมาก หรืออาจใช้แผ่นวัดอุณหภูมิทาบกับหน้าผาก ซึ่งใช้เวลาไม่นานนัก และให้ผลได้ค่อนข้างชัดเจน ราคาไม่แพง แต่ใช้ได้กับอุณหภูมิในช่วงไม่กว้างนัก ประมาณ 36-39 องศาเซลเซียส สำหรับการวัดอุณหภูมิห้องก็อาจใช้เทอร์โมมิเตอร์ชนิดแอลกอฮอล์ (สีแดง) หรือแบบดิจิทัลซึ่งปราศจากสารปรอทก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า